โรคไข้มาลาเรีย
โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องบางชนิดเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่อาศัยในเลือด มีวงจรของเชื้อระยะต่างๆ สลับกัน คือระยะมีเพศและไม่มีเพศ และมีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์จำพวกยุง
ยุงก้นปล่อง
เป็นแมลงชนิดหนึ่ง มีปากคล้ายงวงยื่นยาวออกไปข้างหน้า มักยกส่วนท้องขึ้นสูงเป็นปล่องอย่างเห็นได้ชัดในขณะดูดเลือด
ยุงก้นปล่องอาศัยได้หลายที่ เช่น บ้านเรือน ป่า ภูเขา จึงพบมากในชนบทที่อยู่แถวชายป่า ชอบวางไข่ในแหล่งน้ำใสไหลริน แอ่งน้ำสะอาด ธารน้ำไหล หรือน้ำตก
ยุงชนิดนี้ชอบกัดคนในเวลาพลบค่ำ ตอนดึก และเช้าตรู่
เชื้อมาลาเรีย
เชื้อมาลาเรียในคนสำหรับประเทศไทยมีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่
- Plasmodium falciparum (Pf)
- Plasmodium vivax (Pv)
- Plasmodium malariae (Pm)
- Plasmodium ovale (Po)
- Plasmodium knowlesi (Pk)
การติดต่อ
สาเหตุหลักคือถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น จากแม่ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรียสู่ลูกในครรภ์ การถ่ายโลหิต เป็นต้น
เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไข้มาลาเรีย เชื้อจะอยู่ในตัวยุงประมาณ 10 – 12 วัน เมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่นต่อก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่คน จึงทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรียต่อไป
ที่มา : หนังสือความรู้เรื่องไข้มาลาเรียสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุข, สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
อาการ
โดยทั่วไปอาการเริ่มแรกของไข้มาลาเรียจะเกิดขึ้นหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดประมาณ 10 -14 วัน โดยจะจับไข้ไม่เป็นเวลา ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหารได้ หลังจากนั้นจะจับไข้เป็นเวลา มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ เหงื่อออก ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียและเหนื่อย
ที่มา : หนังสือความรู้เรื่องไข้มาลาเรียสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุข, สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
การตรวจรักษา
เมื่อสงสัยเป็นไช้มาลาเรียให้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล หรือมาลาเรียคลินิกใกล้บ้าน ซึ่งมีขั้นตอนคือการเจาะเลือดหาเชื้อ หากพบเชื้อจะได้รับยา โดยการกินยาต้องกินให้ครบตามแพทย์สั่ง และต้องมาตรวจเลือดซ้ำตามแพทย์นัด
ที่มา : หนังสือความรู้เรื่องไข้มาลาเรียสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุข, สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
ที่มา : สไลด์นำเสนอเรื่องการตรวจวินิจฉัยและการรักษา, สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
การป้องกัน
เนื่องจากไม่มีวัคซีนและไม่มียากินเพื่อป้องกันการเกิดโรค ดังนั้นหากต้องเข้าป่าหรือไปในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเองดังนี้
- สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด
- ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง
- นอนในมุ้งชุบน้ำยาทุกคืน
- ใช้มุ้งชุบน้ำยาคลุมเปลเวลาต้องไปค้างคืนในไร่นาป่าเขา
ที่มา : หนังสือความรู้เรื่องไข้มาลาเรียสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุข, สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
ความชุกชุมของโรค
ส่วนมากบริเวณที่เป็นป่าเขาและมีแหล่งน้ำ ปัจจุบันเป็นโรคประจำถื่นที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน
ที่มา : สไลด์นำเสนอเรื่องแผนงบประมาณและแผนการดำเนินงานกำจัดโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย, สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
ชื่อเรียกอื่นๆ ของไข้มาลาเรีย
เรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการหรือฤดูกาลเกิดโรค เช่น
- ไข้จับสั่น (เนื่องจากเมื่อเป็นไข้ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่นเป็นพักๆ)
- ไข้ป่า ไข้ดง (เนื่องจากชาวบ้านไปเข้าป่าแล้วกลับออกมาเป็นไข้)
- ไข้ร้อนเย็น (เนื่องจากมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ)
- ไข้ดอกสัก (เนื่องจากผู้ป่วยมักเป็นไข้ในช่วงฤดูที่ดอกสักบาน)
- ไข้ป้าง (เนื่องจากผู้ป่วยบางรายมีอาการม้ามโต)
การกำจัดโรคไข้มาลาเรีย
กำจัดโรคไข้มาลาเรีย (Malaria Elimination) หมายถึง การดำเนินงานกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียไม่ให้เกิดขึ้นในท้องที่ใดๆ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้มีผู้ป่วยมาลาเรีย หรือต้องกำจัดยุงพาหะนำเชื้อมาลาเรียให้หมดไปจากท้องที่นั้น แต่เป็นการดำเนินงานให้ท้องที่ปลอดโรคไข้มาลาเรียโดยไม่มีผู้มีเชื้อมาลาเรียในกระแสเลือดที่ได้รับเชื้อมาลาเรียจากในพื้นที่นั้นๆ (Indigenous case) แต่ถ้ามีผู้ป่วยมาลาเรียเข้ามา (Imported case) จะต้องมีมาตรการค้นหา สกัดกั้นและป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้ออย่างต่อเนื่อง
ทำไมประเทศไทยจะต้องกำจัดโรคไข้มาลาเรีย?
- ปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยารักษาในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (Epicenter of multi-drug resistant malaria)
- ประเทศไทยมีอัตราอุบัติการณ์โรคน้อยกว่า 1 ต่อประชากรพันคน ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งอยู่ในเกณที่องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศนั้นดำเนินนโยบายการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย
- มีความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนที่ร่วมแสดงจุดยืนที่ชัดเจน
- ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะดำเนินการกำจัดโรคไข้มาลาเรียได้ ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในด้านการควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย
พ.ศ. 2560 – 2569
ความเป็นมา
ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย เป็นการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการอำนวยการกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่ 93/2558 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2558
ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย ได้รับการพัฒนาผ่านกระบวนการวิเคราะห์สถานการณ์โรคการวิเคราะห์องค์กร จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยบูรณาการแนวคิดและทิศทางในการจัดทำแผนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และ 13 ด้านสังคม (การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค) กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการของยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560 – 2569 และแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 หน่วยงานและองค์กรในภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานและความเหมาะสมทางวิชาการ เพื่อมุ่งสู่การกำจัดโรคไข้มาลาเรียอย่างยั่งยืน
ที่มา : หนังสือยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2569, สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
วิสัยทัศน์
ประเทศไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรีย (Malaria elimination) ภายในปี พ.ศ.2567 (ค.ศ. 2024)
เป้าหมาย
ระยะกลาง : ประเทศไทยมีอำเภอ/เขตที่ไม่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของอำเภอ/เขตทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ.2021)
ระยะยาว : ประเทศไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรีย (Malaria Elimination) ภายในปี พ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2024)
ที่มา : หนังสือยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2569, สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
วัตถุประสงค์ทั่วไป
ในระยะปีงบประมาณ 2560-2564
- เพื่อลดอัตราป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียให้เหลือไม่เกิน 0.20 ต่อประชากรพันคนในปี พ.ศ.2564
- เพื่อลดอัตราตายด้วยโรคไข้มาลาเรียไม่ให้เกิน 0.01 ต่อประชากรแสนคนในปี พ.ศ.2564
- เพื่อกำจัดโรคไข้มาลาเรียไม่น้อยกว่า ร้อยละ 95 ของอำเภอ/เขตทั้งประเทศในปี พ.ศ. 2564
(882 อำเภอ/เขต จาก 928 อำเภอ/เขต)
- เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลับมาแพร่เชื้อใหม่ในพื้นที่ที่ปลอดโรคไข้มาลาเรีย
ยุทธศาสตร์
แบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ที่มา : หนังสือยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2569, สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
ยุทธศาสตร์ที่ 1 เร่งรัดกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม มาตรการและรูปแบบที่เหมาะสมในการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย ระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนงานกำจัดโรคไข้มาลาเรีย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเองจากโรคไข้มาลาเรีย